คุณคิดว่าเวปนี้เป็นอย่างไร
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำสำคัญภายในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลวัดธาตุ คือ ลำนำ้สวย(ลำห้วยยาง)เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อใช้ในการเกษตร มีความยาว 6 กิโลเมตร คลุมพื้นที่ บ้านเมืองบาง บ้านเม็ก บ้านเดื่อ บ้านวังยางเหนือบ้านวังยางใต้ และบึงหนองคาย เป็นบึงขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 526 ไร่ ที่มีความสำคัญของตำบล คือบ้านนาคลอง บ้านเบิดน้อย บ้านสร้างประทาย ในด้านการทำนาปรัง พืชสวน และแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญจำนวน 28 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ จำนวน 1,060 ไร่ ความยาวประมาณ 19.7 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภคพร้อมทั้งมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของประชาชนในเขตตำบลวัดธาตุ
ทรัพยากรดิน ในเขตเทศบาลตำบลวัดธาตุ มีพื้นที่ 59.20 ตร.กม. เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรประมาณ 30 ตร.กม. เป็นพื้นที่สำหรับสาธารณประโยชน์ ประมาณ 1,844 ไร่ ลักษณะของทรัพยากรดินของตำบลวัดธาตุเป็นที่ราบลุ่มมีความลาดเอียงเล็กน้อย มีหน้าดินตื้นเขิน มีดินลูกรังปะปนเป็นบางส่วนเหมาะสมแก่การทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนาปรังจะได้ผลมากกว่านาปี เนื่องจากเป็นมีลักษณะราบลุ่มในหน้าฝนทำให้เกิดน้ำท่วมนาปี จึงไม่ได้ผลผลิตน้อย นอกจากนี้ในพื้นที่ของตำบลมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญจำนวนมาก จึงทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของประชาชนมาจากการทำนาปรัง แต่ในปัจจุบันการทำนาได้ใช้สารเคมีจำนวนมากทำให้ดินเกิดการเสื่อมสภาพและขาดการบำรุงรักษา ทำให้ผลผลิตข้าวได้จำนวนน้อย ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
สภาพแวดล้อม ปัจจุบันลักษณะหมู่บ้านตั้งอยู่เป็นกลุ่มๆ ระยะห่างกันโดยเฉลี่ย 2 กิโลเมตร ได้มีการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ของแต่ละหมู่บ้านให้สวยงามโดยรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือน มีหน้าบ้านน่ามองจัดทำความสะอาด บริเวณหน้าบ้าน ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปรับปรุงรั้วบ้านให้สวยงามเป็นธรรมชาติ หลังบ้านน่าดู จัดทำความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะมูลฝอย ทำความสะอาดคอกสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ในบ้านน่าอยู่ จัดทำความสะอาดบนอาคารบ้านเรือนให้สะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว พ่อ แม่ ลูก อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน มีความสมัครสมานสามัคคี แต่อย่างไรก็ตามในเขตเทศบาลยังมีปัญหาขยะ สืบเนื่องจากพื้นในเขตตำบลมีระยะห่าง และระบบการกำจัดขยะมูลฝอยยังไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้างสร้างปัญหาให้เกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชนในท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้มีการรณรงค์ ให้ครัวเรือนมีการกำจัดด้วยตนเอง ทำปุ๋ยหมัก และนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งนำไปขายให้ร้านเก็บของเก่าในชุมชน